ภาษาศาสตร์ : การแปลเพลง

pexels-photo-54257.jpeg

สรุปความรู้ เรื่อง การแปลความหมายจากบทเพลง

จากการศึกษา และฝึกการแปลเพลงทั้งเพลงสากลและเพลงไทย พบปัญหารวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา และลักษณะเฉพาะของการใช้ภาษาในบทเพลงที่หลากหลาย เพื่อความเข้าใจง่าย ในที่นี้จะขอกล่าวโดยแยกเป็นประเด็น รวมทั้งสิ้น 2 ประเด็นรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ประเด็นที่ 1 : ปัญหาที่พบในการแปลเพลง

ปัญหาที่พบในการแปลเพลง ที่สำคัญและพบอยู่บ่อยครั้งคือ การแปลเพลง (ทั้งจากภาษาไทย เป็นภาษาอังกฤษ และ จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย) ที่ทำให้ความหมายผิดแปลก หรือคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับ ซึ่งปัญหาในเชิงความหมายที่ผิดเพี้ยนดังกล่าวมีสาเหตุดังต่อไปนี้

 

  • คำศัพท์แต่ละคำมีความหมายที่หลากหลาย เป็นที่ทราบกันดีว่าคำศัพท์ทั้งในภาษาไทย และภาษาอังกฤษ หากนำมาแปลความหมายแล้วจะพบว่า แต่ละคำศัพท์ส่วนมากจะมีความหมายมากกว่า 1 ความหมาย อาทิ  “Love” อาจหมายถึง “พิศวาส” หรือ “ชอบพอ” ซึ่งความหมายในภาษาไทยทั้งสองข้างต้น ดูเหมือนจะมีความหมายใกล้เคียง ทว่าหากพิจารณาถึงความหมายที่แท้จริงแล้ว จะพบว่าทั้งสองคำยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งความหลากหลายในเชิงความหมายของคำศัพท์แต่ละคำนี้เอง หากผู้แปลมีวงคำศัพท์ที่ค่อนข้างแคบ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแปลความหมายต่างๆ โดยเฉพาะการแปลความหมายของเพลง มีความคลาดเคลื่อน หรือไม่สื่อความที่แท้จริงตามต้นฉบับ
  • แนวทางการแก้ไขปัญหา

 

ผู้แปลจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจในความหมายของคำศัพท์ที่หลากหลายเพื่อให้การแปลมีความหมายที่ใกล้เคียง หรือตรงตามต้นฉบับมากที่สุด เพราะหากผู้แปลมีความรู้เรื่องคำศัพท์ที่มาก จะทำให้ผู้แปลมีตัวเลือกความหมายคำศัพท์ที่มากขึ้น อีกทั้งผู้แปลสามารถเลือกสรรความหมายของคำศัพท์เพื่อนำมาประกอบการแปลความหมายได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

  • บริบทที่แตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมของทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทุกภาษานอกจากจะมีความแตกต่างทางด้านการออกเสียง หรือ ตัวอักษรแล้ว อีกประการหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญซึ่งมักเป็นอุปสรรคหรือปัญหาของการแปลความหมายระหว่าง 2 ภาษา คือ บริบททางสังคมและวัฒนธรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้คือ การใช้ สำนวน (Idioms) และวลี (Phrases)  อาทิสำนวน “couch potato” ในภาษาอังกฤษ หมายถึง “คนเกียจคร้าน” จะเห็นได้ว่าหากผู้แปลไม่เข้าใจบริบททางสังคม หรือวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา(อังกฤษ) อาจจะทำให้ผู้แปล แปลความหมายอย่างตรงตัวคำศัพท์ดังกล่าวได้ว่า “ที่นอนมันฝรั่ง” ซึ่งเป็นการแปลความหมายที่ไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างระหว่างภาษาจึงเป็นตัวแปรสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ทำให้การแปลความหมายคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับ
    • แนวทางการแก้ไขปัญหา

ผู้แปลจำเป็นจำต้องศึกษาความรู้เกี่ยวกับความหมายและวิธีหรือหลักการใช้ที่ถูกต้องของสำนวน และวลีเป็นประจำและต่อเนื่อง รวมถึงต้องศึกษาบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของภาษาเป้าหมาย เพราะเรื่องสำนวน และวลีนั้น หากเราไม่ใช่เจ้าของภาษา อาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่เราจะหยั่งรู้ได้ถึงความหมายของทุกสำนวนหรือวลี ดังนั้นแนวทางที่เป็นไปได้ และเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้แปลในกรณีนี้คือการ “ท่องจำ” เพราะการแปลความหมายของสำนวนหรือวลีนั้น เราจำต้องมีความคุ้นชินและคลุกคลีอยู่เป็นประจำ เราจึงจะสามารถเข้าใจ ตีความ และแปลความหมายได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ

 

  • ความหลากหลายของสรรพนามแทนตัวบุรษในภาษาไทย ในภาษาอังกฤษสรรพนามแต่ละสรรพนามจะบ่งชี้ถึงตัวบุรุษที่ชัดเจน เช่น I บ่งชี้ถึงบุรุษที่ 1 He บ่งชี้ถึงบุรุษที่ 3 เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้แปลมีความเข้าใจเรื่องบตัวบุรุษที่ถูกต้องตรงกัน แต่ในภาษาไทย สรรพนามแทนตัวบุรุษ 1 สรรพนาม สามารถบ่งชี้ได้มากกว่า 1 ตัวบุรุษ เช่น หนู สามารถบ่งชี้ได้ทั้ง บุรุษที่ 1 และ บุรุษที่ 2  เรา สามารถบ่งชี้ได้ทั้งบุรุษที่ 1 และบุรุษที่ 3 เป็นต้น โดยสามารถจะเห็นปัญหานี้ได้ชัด หากแปลความหมายสรรพนามจากภาษาไทย เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่ความหมายจะคลาดเคลื่อน เนื่องจากผู้แปลอาจสับสนในการเลือกใช้คำสรรพนามในภาษาอังกฤษ เพื่อแทนคำสรรพนามในภาษาไทย  เช่น หากต้องการแปลความหมายคำว่า “เรา” ในภาษาไทยที่พบในบทเพลง ผู้แปลอาจต้องตัดสินใจเลือกสรรพนามในภาษาอังกฤษระหว่างคำว่า “I” และ “We” ซึ่งหากตัดสินใจโดยไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน การแปลดังกล่าวจะผิดความหมายไปในทันที เป็นต้น

 

    • แนวทางการแก้ไขปัญหา

ผู้แปลจำเป็นจะต้องศึกษาถึง กฎ หรือข้อบังคับในการเทียบเคียง หรือแปลความหมายของสรรพนามระหว่างภาษาต้นฉบับ และภาษาเป้าหมายให้เข้าใจ นอกจากนี้หากผู้แปลไม่มั่นใจในความหมายที่แท้จริงของสรรพนามที่พบ ผู้แปลอาจเลือกใช้สรรพนามที่มีสถานะเป็นกลาง กล่าวคือไม่เป็นสรรพนามที่เฉพาะเจาะจงหรือชี้เฉพาะจนเกินไป ประกอบการแปลความหมายนั้นๆได้ เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงความผิดพลาด และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากการแปล  

  • ความแตกต่างเชิงโครงสร้างทางไวยากรณ์ระหว่างภาษา นอกจากความแตกต่างระหว่างภาษา ที่ได้กล่าวไปข้างต้น อีกหนึ่งประการที่นักแปล หรือผู้แปลทั่วไปไม่สามารถละเลยได้ คือไวยากรณ์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย มีโครงสร้างทางไวยากรณ์ที่แตกต่างกันหลายประการ กล่าวเฉพาะเรื่อง “Tenses”   เป็นที่ทราบกันดีกว่าในภาษาอังกฤษ จะมีการระบุถึงช่วงเวลาในทุกๆประโยคอย่างชัดเจน อันจะสังเกตได้จาก การผันคำกริยาในแต่ละประโยค ทว่าในภาษาไทย ไม่มีการผันคำกริยาแต่อย่างใด มีเพียงการเพิ่มเติมคำระบุเวลาไปในตอนต้น ตอนกลาง หรือ ตอนท้ายของประโยคเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การแปลความหมายในแต่ละประโยคที่พบในบทเพลง ผู้แปลจำเป็นจำต้องคำนึงถึงช่วงเวลาของประโยคนั้นๆเป็นสำคัญ เนื่องจากผู้แปลส่วนใหญ่มักละเลย หรือไม่คำนึงถึงการผันคำกริยาในประโยคที่แปล ซึ่งอาจส่งผลให้การแปลนั้นผิดพลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลความหมายจากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทย เช่น การแปลประโยคในภาษาอังกฤษที่ว่า “I went to the public park” จะเห็นได้ว่าในประโยคดังกล่าวมีการบ่งบอกถึงช่วงเวลาในอดีต ผ่านการผันคำกริยาในประโยค ซึ่งหากผู้แปลไม่คำนึงหรือให้ความสำคัญกับการบ่งชี้เวลาของประโยคต้นฉบับแล้ว ผู้แปลอาจแปลความหมายได้เพียงว่า “ฉันไปสวนสาธารณะ” ซึ่งหากพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะพบว่าความหมายยังไม่ชัดเจน และมีแนวโน้มที่ความหมายดังกล่าวจะคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับ
    • แนวทางการแก้ไขปัญหา

ผู้จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องไวยากรณ์ของทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาเป้าหมายให้ลึกซึ้ง อีกทั้งผู้แปลจำต้องเพิ่มความระมัดระวังในการแปลความหมาย โดยต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงการผันคำกริยารวมทั้งข้อบ่งชี้ต่างๆทางไวยากรณ์ของภาษามากขึ้น เพื่อลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นจากการแปลนั้นๆ

ประเด็นที่ 2 : ลักษณะเฉพาะของการใช้ภาษาในบทเพลง

จากการฝึกแปลความหมายของบทเพลง พบคุณลักษณะเฉพาะของการใช้ภาษาในบทเพลง 4 ประการ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

 

  • การใช้ Figure of Speech ในบทเพลง จากการแปลความหมายของบทเพลง พบว่าในแต่ละเพลงจะมีการนำ Figure of speech หรือ ภาพพจน์ มาใช้ประกอบบทเพลงอยู่เสมอ เพื่อสร้างจินตนาการ รวมถึงปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังให้ เข้าใจ เข้าถึง และเกิดความลึกซึ้งในบทเพลง โดยภาพพจน์ดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในศิลปะการใช้ภาษาที่น่าหลงไหลในบทเพลง ซึ่งภาพพจน์ ที่พบบ่อยในบทเพลง ได้แก่
  • Imagery คือการใช้คำมาบรรยายให้เกิดเป็นภาพลักษณ์ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการขณะฟังเพลง และมีอารมณ์สุนทรีย์ตามบทเพลงที่ได้ฟัง
  • Personufucation เป็นการสร้างสิ่งไม่มีชีวิตให้มีชีวิตเพื่อให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงบทเพลงนั้นได้ง่ายขึ้น เช่น Rain won’t you tell her that I love her so เป็นต้น
  • simile & Metaphor เป็นการใช้คำที่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบแทนการกล่าวความหมายตรงๆ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสุนทรีย์ อีกทั้งช่วยสื่อความหมายของบทเพลงถึงผู้ฟังได้ลึกซึ้งมากขึ้น ฯลฯ
  • อารมณ์ความรู้สึกเป็นแม่ทัพ การแปลความหมายของบทเพลง มีความแตกต่างจากการแปลความหมายทั่วไป เนื่องจากในบทเพลงมีการใช้ภาษาที่มีลักษณะเฉพาะในการถ่ายทอดอารมณ์ และความรู้สึกต่างๆมากมายไปยังผู้ฟัง ดังนั้นการแปลความหมายบทเพลง ผู้แปลจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงอารมณ์และความรู้สึกที่ผู้ประพันธ์ต้องการจะสื่อถึงผู้ฟังผ่านบทเพลงเป็นสำคัญ เพราะหากผู้แปลเข้าใจอารมณ์ของบทเพลงผิดไป ย่อมจะส่งผลต่อการตีความหมายของเพลงที่อาจจะผิดเพี้ยนหรือคลาดเคลื่อนอย่างแน่นอน
  • ไวยากรณ์ผิดบ้างก็ได้ ประการหนึ่งที่สังเกตได้อย่างชัดเจนของการใช้ภาษาในบทเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาอังกฤษ คือ ไวยากรณ์ที่ผิด เนื่องจากในการประพันธ์เพลง สิ่งที่ผู้ประพันธ์ต้องคำนึงเป็นสำคัญไม่ใช่เรื่องความถูกต้องทางภาษา หรือไวยากรณ์ หากแต่เป็นการสื่อความหมาย อารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นเราจะพบเห็นการใช้ภาษาที่ผิดโครงสร้าง หรือผิดไวยากรณ์เป็นจำนวนมากในบทเพลง
  • คำคล้องจองเป็นเสน่ห์ของบทเพลง แทบจะทุกบทเพลงจะมีการใช้ภาษา หรือถ้อยคำที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าววคือในบทเพลง การเลือกใช้คำจะเลือกใช้คำที่มีความคล้งอจองกัน เพื่อความไพเราะและเป็นที่จดจำง่ายในหมู่ผู้ฟัง ซึ่งการใช้คำคล้องจองในบทเพลง สามารถพบได้ทั้งในเพลงภาษาไทย และเพลงภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ หรือลักษณะเฉพาะของการใช้ภาษาในบทเพลงที่น่าหลงไหลอีกประการหนึ่ง

สหรัฐ ลักษณะสุต (Saharat Laksanasut) นักวิชาการอิสระ

 

Published by Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)

Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)Saharat Laksanasut (สหรัฐ ลักษณะสุต)

ใส่ความเห็น